อากาศร้อน เตรียมพร้อมรับมือกับ 5 โรคยอดฮิต
Ploy by BUILK มาเตือน ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆเช่นนี้ เราควรดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง และหากต้องอาศัยร่วมกับคนหมู่มากอย่างคอนโดมิเนียม การดูแล เฝ้าระวังการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันจึงมีความสำคัญมาก
โดยศูนย์ภูมิอากาศกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประเมินฤดูร้อนปี 61 ของประเทศไทย ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึง ปลายเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าว และมีอากาศร้อนจัดบางแห่ง ในบางวันจะมีอุณหภูมิอาจสูงสุดไปจนถึง 42- 43 องศาเซลเซียส ดังนั้น ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดเช่นนี้
เราจึงได้รวบรวม 5 โรคอันตรายที่มักจะมาในช่วงฤดูร้อนนี้ เพื่อเตรียมตัว รับมือ และป้องกัน ไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพมาฝากค่ะ
ฮีทสโตรก (heat stroke) : โรคลมแดด
Ploy by BUILK คิดว่าเป็นโรคที่คนมักเป็นบ่อย คือ โรคลมแดดเป็นภาวะวิกฤตของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ ซึ่งโรคลมแดดเกิดจากการได้รับความร้อนที่มากเกิน ไม่ว่าจะเป็นขณะออกกำลัง หรือเล่นกีฬาในภาวะอากาศที่กำลังร้อนจัดเป็นเวลานาน สามารถเกิดขึ้นได้แม้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ความผิดปกติที่รุนแรงมากที่สุด
คือ ทำให้สมองไม่ทำงานไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งปกติร่างกายมนุษย์ต้องปรับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ช่วงระหว่าง 36.5-37 องศาเซลเซียส ความร้อนทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรีบด่วน
เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70% จากสถิติที่ผ่านมาจะพบผู้ป่วยประมาณ 150 ถึง 400 คนต่อเดือน และจะพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
อาการ : จะแตกต่างจากการเป็นลมทั่วไป คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด หิวน้ำ เวียนหัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อาจเกิดอาการช็อค หรือหมดสติ
วิธีป้องกัน : หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด ดื่มน้ำมากๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่อากาศร้อนหรือร่างกายมีอุณภูมิสูง
ไข้หวัดแดด (Summer Flu)
ไข้หวัดแดดเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโอกาสในการเกิดไข้หวัดแดดก็มีปัจจัยทางด้านอากาศ และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหวัดแดดด้วย เพราะจะสะสมความร้อนชื้นไว้ในร่างกาย
โดยเฉพาะคนที่ต้องเดินเข้า-ออกห้องแอร์และข้างนอกที่อากาศร้อนจัดบ่อยครั้ง กรณีนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นหวัดแดดได้ง่ายขึ้น หรืออาจเกิดภาวะภูมิแพ้ได้ง่ายกว่าปกติ เพราะร่างกายเราปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ไม่ทัน จนอาจเกิดความผิดปกติขึ้น ซึ่งอาจทำให้ล้มป่วยได้ในที่สุด
อาการ : มีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะมาก ตาแดง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีน้ำมูก หรืออาจมีน้ำมูกใส ๆ บ้างเล็กน้อยไม่มากอย่างไข้หวัด และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะเป็นลักษณะปากคอแห้ง แสบคอ รู้สึกขมปาก
วิธีป้องกัน : พยายามอย่าหลบร้อนไปพึ่งแอร์เย็น ๆ โดยทันที เพราะอาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันจนเป็นหวัดแดดได้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันหวัดได้ และควรจิบน้ำบ่อย ๆ ป้องกันภาวะขาดน้ำ
ท้องร่วง
โดยมีสาเหตุ จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอน พยาธิในลำไส้ โดยการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอุจจาระร่วง
เนื่องจากช่วงหน้าร้อนแบคทีเรียจะสามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเช่นนี้ โดยข้อมูลล่าสุดของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 สิงหาคม 2560 พบผู้ป่วยอุจจาระร่วง จำนวน 4,792 ราย
อาการ : มีการถ่ายอุจจาระเหลวผิดปกติ มากกว่า 3 ครั้งติดต่อกัน ใน 1 วัน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือเป็นมูกเลือด ซึ่งอาจมีอาเจียนร่วมด้วย
วิธีป้องกัน : รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ทำความสะอาดวัตถุดิบก่อนปรุงอาหาร และไม่ใช้มีดเขียงสำหรับหั่นอาหารดิบและสุกร่วมกัน
โรคผิวหนัง
อุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อน ซึ่งเหงื่อก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง และก่อให้เกิดกลิ่นกายซึ่งทำให้เรารู้สึกขาดความมั่นใจอีกด้วย
อาการ :
1.ผด จะเกิดผดเม็ดเล็ก ๆ แดง ๆ หรือบางครั้งจะเป็นเม็ดใส ๆ พบมากในเด็กเล็ก โดยที่ผดมักขึ้นรอบ ๆ คอ หน้าผาก มีอาการคัน
2.เกลื้อน มีลักษณะเป็นวงขาว ๆ วงแดง ๆ หรือวงดำ ๆ แล้วก็จะคันมากขึ้นมักเกิดบริเวณหลัง หน้าอก ท้อง และในบริเวณร่มผ้า
3.กลาก มักพบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ เหมือนถูกเหงื่อกัด มีอาการคัน หากมีเชื้อราร่วมด้วย
ผื่นจะขยายเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน เป็นขุย และคันมากขึ้นกว่าเดิม
วิธีป้องกัน : พยายามใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ระบายเหงื่อ ไม่รัดแน่นจนเกินไป อาบน้ำบ่อย ๆ และโรยแป้งบางๆช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราได้
ผิวไหม้
การทำกิจกรรมที่ต้องปะทะแดดที่พร้อมแผดเผาผิวของเราตลอดเวลา ทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งไปเที่ยวทะเล นอกจากจะทำให้ผิวของเราหมองคล้ำและไหม้ ยังจะก่อให้เกิดกระและฝ้าอีกด้วย
อาการ : ปวดแสบ ปวดร้อน และแดง ถึงขั้นผิวลอกเป็นแผ่น ๆ
วิธีป้องกัน : พกร่มไว้กันแดด สวมใส่เสื้อผ้า และแว่นกันแดดสำหรับปกป้องผิวและดวงตา ทั้งนี้หมั่นทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้าหากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ ก็ควรทาซ้ำทุก 2-4 ชั่วโมง
จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี พ.ศ. 2556 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากความร้อนอยู่ที่ 98 ราย และในปี พ.ศ. 2559 เป็น 2,457 ราย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีก
โดยเฉพาะเดือนเมษายนของทุกปี และอาการป่วยของโรคหน้าร้อนหลาย ๆ โรค มีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ เช่น ฮีทสโตรกมีลักษณะอาการคล้ายเป็นลมธรรมดา หรือ โรคไข้หวัดแดดอาการคล้ายกับโรคไข้หวัด จนทำให้ผู้ป่วยสับสนหรือไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ ดังนั้นเราควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
นอกเหนือจากการดูแลตัวเองและคนใกล้ตัวอย่างดีแล้ว เราควรต้องคำนึงถึงส่วนรวมเช่นกัน เช่น เมื่อพบว่าตัวเองมีอาการป่วยก็ควรงดการแพร่เชื้อ หรือหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกันในที่สาธารณะ
การใช้แอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งก็เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนบ้าน หากเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น เป็นลม หมดสติ จากแดดร้อนจัด ก็ช่วยกันบอกแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง:
สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
สำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
พลัส พร็อพเพอร์ตี้
www.med.cmu.ac.th
www.health.kapook.com