สถานการณ์อสังหาฯ62 เกิดการคาดคะเนจากช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตสูงที่สุดในรอบ 5 ปี
นับตั้งแต่ปี 57 เห็นได้จากการเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถวและคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวมากเป็นพิเศษในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส
จึงทำให้อสังหาฯ 62 ถูกคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวบวกกับมีอีกหลายหลายปัจจัยที่สนับสนุนให้แนวโน้มของ สถานการณ์อสังหาฯ62 ต้องชะลอตัวลงดังต่อไปนี้
ฟองสบู่ธุรกิจอสังหาฯ
จากตัวเลขการรายงานของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ในปี 61 เปิดตัวใหม่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลอยู่ที่ 125,118 หน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เปิดตัวโครงการ 114,477 หน่วย ถึง 9.3%
และยิ่งพิจารณาถึงมูลค่าการพัฒนาในปี 61 มีมูลค่า 565,811 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่มีมูลค่า 441,661 ล้านบาท ถึง 28.1% เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าธุรกิจอสังหาฯ ในไทยได้เกิดฟองสบู่ขึ้นแล้ว

นักลงทุนชาวจีนมีแนวโน้มลดลง
สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกา โดยบริษัทอสังหาฯ หลายแห่งมีผู้ซื้อเป็นชาวต่างชาติมากถึง 20%
โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนจากสงครามการค้าดังกล่าวแน่นอนว่าส่งผลกระทบกับค่าเงินหยวนของจีนเป็นอย่างมากทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ชาวจีนต้องระมัดระวังในการนำเงินมาลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ซัพพลายส่วนเกินในตลาดอสังหาฯ
จากข้อมูลของฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์แนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2561 ไตรมาสที่3 โครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมียูนิตที่เหลือขาย 1.3 แสนยูนิตมูลค่ากว่า 8.5 แสนล้านบาท
ซึ่งทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องชะลอตัวในการเปิดโครงการใหม่ เพื่อให้ซัพพลายส่วนเกินที่ค้างอยู่ในตลาดกลับสู่ภาวะปกติ
การประกาศใช้ LTV ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2652 ซึ่งจะส่งผลกับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่จะทำยอดขายได้ช้าเนื่องจากต้องเพิ่มระยะเวลาในการเก็บเงินดาวนักลงทุนชาวต่างชาติ อาจจะชะลอการลงทุนในสินทรัพย์โดยมองว่าผลตอบแทนการลงทุนไม่คุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่จ่ายไป ผู้กู้เพื่ออยู่อาศัยหลังที่2 จะต้องวางเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้นและสถาบันการเงินที่จะปล่อยกู้ได้น้อยลง
No Real Demand ในตลาด
ปี 2561 ถือว่าเป็นปีที่โครงการอสังหาฯ เปิดตัวถล่มทลายและเกือบทุกโครงการประกาศปิดการขายได้ทุกยูนิต แต่ถ้าสังเกตให้ดีโครงการที่ประกาศว่าขายหมดไปแล้วนั้น กลับไม่มีผู้เข้าพักอาศัยหรือเป็นยูนิตที่่ว่างเป็นระยะเวลายาวนาน
เป็นเพราะว่าเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรต่อกันเป็นทอดๆเพื่อหวังเงินกำไรที่สูงขึ้นและนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนสินทรัพย์เพื่อปล่อยเช่ามากขึ้นไม่ใช่เป็นการซื้อเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริง
___________________________________________________________
จากปัจจัยทั้ง 5 ประการที่ได้กล่าวมานั้น เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนหรือแม้กระทั่งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการวางแผนไว้ว่าจะลงทุนสินทรัพย์หรือนักพัฒนาที่ต้องการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ในปี 62 จะระมัดระวังและวางแผนทางการเงินอย่างรอบคอบมากขึ้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จในสภาวะเศรษฐกิจยังไม่เสถียรนี้